วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

การจัดระเบียบทางสังคม

 การจัดระเบียบทางสังคม

            การจัดระเบียบทางสังคม (Social organization)  เป็นกระบวนการที่มีขอบเขตกว้างขวางมากเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมปรากฏการณ์สังคมหลายอย่าง   เริ่มจากการจัดให้มีกฎเกณฑ์   ข้อบังคับต่าง ๆ หลายอย่างเพื่อให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อกัน   เราอาจกล่าวถึงการจัดระเบียบระหว่างสามีภรรยา  การจัดระเบียบสังคมของกลุ่มอาชญากร  การจัดระเบียบสังคมของหมู่บ้าน  จนถึงการจัดระเบียบสังคมของสังคมไทย  หรือการจัดระเบียบสังคมของโลกก็ได้  สังคมทุกประเภทจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบสังคมไม่มากก็น้อย   ระเบียบสังคมเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสังคมทั้งหลาย

ความหมาย 

       การจัดระเบียบสังคม  เป็นการจัดระเบียบอย่างมีระบบ เป็นการวางรูปแบบของพฤติกรรมและกระบวนการความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนและระหว่างบุคคล

ความสำคัญของการจัดระเบียบสังคม

        ความเป็นจริงของสังคมมีอยู่ว่า เราไม่อาจแยกปัจเจกบุคคลกับสังคมออกจากกันได้ เมื่อมีมนุษย์ก็ต้องมีสังคม  เมื่อมีการรวมกลุ่มเป็นสังคม  ก็ต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ในหมู่ชนชั้นเสมอมา ระเบียบนั้นจะมีความซับซ้อนจะมีปริมาณมากหรือน้อยเพียงไรก็ย่อมขึ้นอยู่กับความซับซ้อนแห่งกลุ่มชนชั้นด้วย การมีระเบียบของสังคม ย่อมจะเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปตามความพอใจของตน เพราะถ้าบุคคลกระทำตามความพอใจ โดยปราศจากการควบคุมแล้วก็ย่อมจะเป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

รูปแบบของการจัดระเบียบสังคม

        สังคมและกลุ่มต่าง ๆ มีแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นลักษณะเด่น เราสังเกตแบบของการจัดระเบียบสังคมจากจารีตประเพณีหรือกฎเกณฑ์สำคัญที่ใช้ควบคุมสังคมว่าเป็นชนิดใด และสถานภาพอะไรเป็นสถานภาพหลัก Broom  Selznick (1977) สรุปว่า รูปแบบของการจัดระเบียบสังคมแบ่งได้  5  แบบคือ

1. แบบเครือญาติ (kinship) ได้แก่การจัดระเบียบสังคมที่ใช้บรรทัดฐานและสถานภาพในระบบครอบครัวเป็นหลักของความสัมพันธ์ เช่น ผู้อาวุโสในวงศ์เครือญาติเป็นผู้นำ ใช้กฎหมายความสัมพันธ์ฉันท์ญาติควบคุมความประพฤติ  เป็นลักษณะของระเบียบสังคมในสังคมดั้งเดิมหรือสังคมเผ่าชน  สังคมชนบท  สังคมจีนโบราณ เป็นต้น

2. แบบนายกับบ่าวหรือแบบจงรักภักดี (fidality) ได้แก่การยึดถือความสัมพันธ์โดยความผูกพัน ฉันท์นายผู้มีพระคุณกับบ่าวหรือข้ารับใช้ผู้ซื่อสัตย์  เช่นระบบฟิวดัล (feudalism)  ในยุโรปสมัยก่อนซึ่งมีเจ้าที่ดิน (lord) เป็นศูนย์กลางอำนาจปกครองดูแลข้าที่ดิน ซึ่งอาศัยทำกินในที่ดินของนาย

3. แบบชั้นวรรณะหรือแบบสถานภาพ หมายถึงแบบความสัมพันธ์ที่มีกฎเกณฑ์แน่นอนตามสถานภาพที่กำหนดติดตัวอย่างถาวร (fixed  status) เช่น ความสัมพันธ์ในสังคมญี่ปุ่นโบราณที่แบ่งคนเป็นพวกเจ้าขุนมูลนายหรือซามูไรฝ่ายหนึ่งกับพวกสามัญชนฝ่ายหนึ่ง  แต่ละฝ่ายมีกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตของตนและจำกัดขอบเขตความสัมพันธ์กันชัดเจน

4. แบบพันธะสัญญา (contract) คือความสัมพันธ์ที่เกิดจากข้อตกลงที่สองฝ่ายกระทำเป็นสัญญาต่อกันโดยมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เป็นความสัมพันธ์ในสังคมอุตสาหกรรมซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่สัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างเป็นสำคัญ  รัฐบาลมีบทบาทเป็นผู้ประสานประโยชน์หรือคนกลางระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผูกพันกันโดยสัญญา

5. แบบองค์การหรือระบบ  “bureaucracy” เป็นลักษณะ ของสังคมสมัยใหม่ที่สมาชิกสังคมมักสังกัดอยู่ในองค์การขนาดใหญ่  เช่น  บริษัท  หน่วยงานราชการ  กองทัพ  บุคคลในองค์การขนาดใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์การ  ผู้มีอำนาจคือฝ่ายจัดการมืออาชีพ  (bureaucrats)  สมาชิกแต่ละคนถูกแยกกลุ่มไปตามหน้าที่เฉพาะด้านและมีความสัมพันธ์กันตามระบบสวยงาม นักสังคมวิทยาบางคนเห็นว่าสังคมแบบนี้ทำให้กลายเป็น มนุษย์องค์การ  (organization man)

องค์ประกอบสำคัญของการจัดระเบียบสังคม

1. บรรทัดฐาน (Norns)

2. สถานภาพ  (Status)

3. บทบาท (Role)

4. ค่านิยม (Valus)

5. การควบคุมทางสังคม (Social  Control)

            องค์ประกอบที่สำคัญของการจัดระเบียบสังคมได้แก่ บรรทัดฐาน (Norms) และสถานภาพ (Status) ทั้งบรรทัดฐานและสถานภาพ  เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นกลุ่มสังคม  มนุษย์สร้างบรรทัดฐานหรือกฎระเบียบต่าง ๆ  ขึ้นเพื่อการควบคุมและเป็นแนวทางการปฏิบัติต่อกันในสังคม  และยังกำหนดสถานภาพหรือตำแหน่งต่าง ๆ ให้คนในสังคมได้ติดตัวไว้เพื่อให้แต่ละคนรู้ว่าตนมีพันธะต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ในฐานะอะไร  บรรทัดฐานและสถานภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กัน บุคคลต้องรู้ว่าตนมีสถานภาพใดและมีบรรทัดฐานอะไรสำหรับการแสดงบทบาทตามสถานภาพนั้น