วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความหมาย-ความสำคัญของจิตวิทยา

*จิตวิทยา (Psychology) คืออะไร


คำว่า Psychology (จิตวิทยา)มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ๒ คำ ได้แก่ Psyche (Mind = จิตใจ) และ Logos (Knowledge = ศาสตร์ องค์ความรู้) ความหมายโดยรวมของ Psychology จึงหมายถึง

ศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรมของอินทรีย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์เป็นสำคัญ เพื่ออธิบาย ทำความเข้าใจทำนาย และควบคุมพฤติกรรมนั้นๆได้

*สามารถติดตามตำนาน เทพนิยายของ Psyche หญิงสาวผู้ถูกนำชื่อมาใช้ในการอธิบายวิทยาการทางจิตวิทยาทั้งมวลได้ในส่วนของ Mythology ในโอกาสต่อไป

พฤติกรรมในแง่มุมของจิตวิทยา

พฤติกรรมในแง่มุมของจิตวิทยาหมายถึง กิริยาอาการทุกอย่างที่เรากระทำ โดยแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ได้แก่

- พฤติกรรมภายนอก ได้แก่ กิริยาอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น กิน เดิน นอน นั่ง พูดคุย โอบกอด เป็นต้น

- พฤติกรรมภายใน ได้แก่ กิริยาอาการที่สังเกตไม่ได้ เช่น การคิด การฝัน การจำ อารมณ์ เป็นต้น

จุดมุ่งหมายของจิตวิทยา

จากความหมายของคำว่า Psychology ที่ได้อธิบายไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าจิตวิทยานั้นมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาอยู่ 4 หลักใหญ่ๆ ได้แก่ ความต้องการการอธิบายทำความเข้าใจ ทำนาย และควบคุมพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้

- อธิบาย มีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายพฤติกรรมนั้นๆว่าเป็นอย่างไร มีอาการอย่างไร ผลเป็นอย่างไร

- ทำความเข้าใจ เจาะลึกลงไปในส่วนที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมหรือปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีสาเหตุ ที่ไปที่มาอย่างไร

- ทำนาย มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำนายโอกาสของการเกิดพฤติกรรมที่ศึกษาอยู่ เป็นการคาดการณ์โอกาสที่น่าจะเกิดของพฤติกรรมนั้นๆผ่านการทดสอบ ทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์

- ควบคุม มีจุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามที่ต้องการโดยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข

คนโดยทั่วไปมักเข้าใจผิดว่านักจิตวิทยา "อ่านใจ" หรือ "ทำนายใจ" และสามารถ "ควบคุม" พฤติกรรมของบุคคลอื่นได้ตามใจนึก ซึ่งแท้จริงแล้วนักจิตวิทยาไม่สามารถอ่านถึงความคิดของตัวบุคคลได้ราวกับผู้มีอิทธิฤทธิ์ หรือควบคุมบุคคลอื่นให้เป็นดั่งหุ่นเชิดได้

แท้จริงแล้วนั้น นักจิตวิทยานั้น "ทำนาย" พฤติกรรมของบุคคลจากการทดสอบ ทดลองทฤษฎีต่างๆ มากมายตามหลักวิทยาศาสตร์ มีการเก็บข้อมูล เก็บสถิติเพื่อใช้ในการวิเคราะห์วิจัยเพื่อหาโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมที่ศึกษาอยู่ และนักจิตวิทยาควบคุมพฤติกรรมโดยการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวบุคคล หรือตัวแปรต่างๆเพื่อลดปัญหาที่บุคคลนั้นๆกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการที่ดีขึ้น

*ที่มา http://www.geocities.com/jatuponlimtakul/jitavitaya.htm

**ความรู้เบื้องต้นของวิชาจิตวิทยา


ความหมายของวิชาจิตวิทยา

ความหมายของวิชา “จิตวิทยา” มีผู้ให้ความหมายไว้มากมายแต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้คือ

จิตวิทยา มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Psychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Psyche หมายถึง จิตวิญญาณ (Mind , Soul) กับคำว่า Logos หมายถึง ศาสตร์ วิชา วิทยาการ( Science , Study ) กันยา สุวรรณแสง ( 2536 : 11 )

ไซคี( Psyche ) เป็นชื่อเทพธิดาผู้เลอโฉมในนิยายปรัมปราของกรีก ได้อภิเษกกับกามเทพชื่อ( Cupid )ทั้งสองรักกันมานานไม่เคยแยกจากกัน ชาวกรีกจึงเห็นว่า Psyche เป็นวิญญาณนั่นเอง แต่สำหรับ Cupid นั้นถือว่าเป็นร่างกายและทั้งวิญญาณและร่างกายต้องอยู่เป็นคู่กันเสมอ ไม่อาจจะพรากจากกันได้ ทิพย์ นาถสุภา ( 2513 : 2 )

ถ้าแปลตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ Psychology หรือจิตวิทยา หมายถึง วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ ( Psychology means the study of the soul ) ซึ่งในสมัยโบราณเชื่อกันว่า จิต หรือ วิญญาณ เป็นสิ่งที่ควบคุมกิริยาอาการต่าง ๆ ของร่างกาย และยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ การศึกษาเรื่องจิตวิญญาณดังกล่าวจึงเป็นศาสตร์ชั้นสูงของชาวกรีกเรื่อยมา ในระยะต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญก้าวหน้าขึ้น นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจึงหันมาสนใจในเรื่องต่างๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้และนั่นก็คือ การเริ่มต้นหันมาสนใจศึกษาจิตวิทยาในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เราสังเกตได้และสามารถทดลองได้ ดังนั้นการศึกษาวิชาจิตวิทยาจึงถือเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง หรืออาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การศึกษาวิชาจิตวิทยาเป็นการศึกษาศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ ( Behavioral Sciences )

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ความรู้ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎี และการทดลองนำมาเสนอเพื่ออธิบายและควบคุมพฤติกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน , สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ ( 2537 : 1 )

ความหมายของจิตวิทยาได้มีนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายหลายท่านพอสรุปได้ดังนี้

จอห์น บี. วัตสัน (John B. Watson) อธิบายว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม

วิลเลี่ยม เจมส์ ( William James ) อธิบายว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ว่าด้วยกิริยา อาการ ของมนุษย์

ฮิลการ์ด ( HilGard ) อธิบายว่า จิตวิทยา หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น พอสรุปความหมายของวิชาจิตวิทยาได้ดังนี้ จิตวิทยา คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือกิริยาอาการของมนุษย์รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้างในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถ คาดคะเนหรือพยากรณ์ได้ ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์

ความสำคัญของวิชาจิตวิทยา


ความสำคัญของวิชาจิตวิทยา อาจพิจารณาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ตลอดจนพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและเชาว์ปัญญา

2. เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของตนเองและผู้อื่น

3. เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้แก้ปัญหาของตนเอง

4. เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการปรับตัว เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุขและไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

5. เพื่อให้นักศึกษามีความตระหนักถึงความสำคัญของจิตวิทยาและการนำจิตวิทยาไป

และสามารถประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพและการทำงานต่างๆ ได้อย่างเป็นสุข

**http://socialscience.igetweb.com